ธุรกิจแฟชั่นและความงามยุคโควิด

การ “พ่นพิษ” ของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยอย่างหนัก โดยธุรกิจแฟชั่นและความงามส่วนใหญ่ก็เผชิญพิษภัยของโควิด-19 เต็ม ๆ เช่นกัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและหาช่องทางเอาตัวรอดกันเต็มที่เท่าที่จะทำได้ มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งสู้ไม่ไหวจำเป็นต้องเลิกกิจการไป แต่ยังคงมีจำนวนหนึ่งที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้รายได้จากการขายและจากการทำงานที่เกี่ยวข้องจะลดลงก็ตาม
วงการแฟชั่นได้รับผลกระทบหนักสุด
พลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ เจ้าของอาซาว่ากรุ๊ปซึ่งผลิตเสื้อผ้าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของไทย 3 แบรนด์ คือ ASAVA, ASV และ MOO ยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวจากปี พ.ศ. 2563 ถึง 2564 เป็นวิกฤตรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมแฟชั่น ยอดขายส่วนใหญ่หายไปเนื่องจากเปิดร้านไม่ได้ ทำให้มีรายได้เพียงเล็กน้อยจากการขายออนไลน์ในช่วงที่ยังปรับตัวเข้ากับระบบขายออนไลน์ไม่ได้
นอกจากนั้น ผลกระทบยังมาจากกรณีผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยระมัดระวังในการเลือกซื้อเสื้อผ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการมองกันว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ศักราชใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นก็จะกลับมา
ธุรกิจความงามทรุดหนักเช่นกัน
ตลาดธุรกิจความงามได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ยอดขายลดลงอย่างมากเนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการแต่งหน้า ซึ่งการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโควิด-19 ทำให้ไม่จำเป็นต้องแต่งหน้ามาก ขณะที่ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งทำงานที่บ้านจึงไม่จำเป็นต้องแต่งหน้า ร้านเสริมสวยและร้านตัดผมก็เป็นกิจการเกี่ยวข้องกับความงามที่ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีผลิตภัณฑ์บางกลุ่มที่มียอดขายเติบโตสวนทางกับตลาดส่วนใหญ่ ประกอบด้วยกลุ่มสกินแคร์ กลุ่มน้ำหอม กลุ่มสินค้าพรีเมียมแบรนด์ดัง (Prestige Beauty) กลุ่มยาบำรุงผม และกลุ่มยาบำรุงสุขภาพเล็บ